ทำไมจึงไม่ควรให้ผู้ไม่มีใบประกอบอาชีพครูมีสิทธิสอบครู : โดย รศ.ดร.สมาน อัศวภูมิ

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1870
หางาน,สมัครงาน,งาน,ทำไมจึงไม่ควรให้ผู้ไม่มีใบประกอบอาชีพครูมีสิทธิสอบครู : โดย รศ.ดร.สมาน อัศวภูมิ

โดยปกติแล้วผมจะไม่ค่อยจะเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เท่าใดนักครับ แต่ครั้งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเขียน เมื่อเห็นมติที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่พอใจในสัดส่วนของบุคคลไม่มีใบประกอบอาชีพครูและผู้ที่มีใบประกอบอาชีพครูว่าเป็นที่น่าพอใจ และแถมยังบอกว่า “ดีจะได้พิสูจน์กันว่าคนที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กับที่ไม่จบใครจะสอบได้มาก และทำงานได้ดีกว่ากัน”

 

ถ้ามีความคิดอย่างนี้แปลว่าไม่เข้าใจ “หลักการและจุดหมายที่ต้องการให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นอาชีพคุ้มครอง” ที่บรรพบุรุษและนักวิชาการศึกษาได้เพียรพยายามทำมาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นต้นมา

หลักการที่กล่าวมาข้างต้นคือ ความพยายามที่จะทำให้อาชีพครูมีสถานะเป็น “วิชาชีพชั้นสูงและเป็นอาชีพคุ้มครอง” เช่นเดียวกับหมอ หรือวิศวกร หรือทนายความ

การเป็นวิชาชีพชั้นสูงหมายความถึงการเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ทักษะ และจรรยาบรรณเฉพาะวิชาชีพในการประกอบอาชีพ ผู้ที่จะประกอบอาชีพนั้นได้ต้องได้รับการศึกษาเฉพาะทางมาอย่างดี มีการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง มีองค์กรวิชาชีพรับรอง จึงจะมีสิทธิประกอบวิชาชีพนั้นได้ ซึ่งนี่คือที่มาของ “หลักสูตรครู 5 ปี และมีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพอย่างน้อย 1 ปี และหลักสูตรที่เปิดสอนต้องได้รับการรับรองจากองค์กรวิชาชีพก่อนจึงจะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเหล่านั้นมีสิทธิได้รับใบประกอบวิชาชีพ

แล้วจู่ๆ ก็จะเปิดให้ผู้ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวมีสิทธิสอบเป็นครูได้ แล้วที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มีมติเห็นด้วยในนโยบายดังกล่าวได้อย่างไร และที่แย่ไปกว่านั้น “คุรุสภา” ในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาชีพที่ไล่บี้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในเรื่องนี้มาอย่างเข้มข้นนั้นก็ยังไม่ปกป้องวิชาชีพครู และเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

จริงอยู่การดำเนินการเรื่องนี้ที่ผ่านมาผมก็ไม่เห็นด้วยในหลายเรื่องที่คุรุสภาทำ และมีหลายเรื่องที่ทำก็เป็นปัญหา ซึ่งก็ต้องแก้ไขที่แนวปฏิบัติที่ไม่เหมาะ หรือไม่ถูกต้อง แต่ต้องยึดหลักการไว้ ถ้าเราเชื่อว่าหลักการมันถูกต้อง แต่ถ้าเป็นว่าหลักการไม่ถูกต้องก็แก้ที่หลักการ และถ้าแก้ที่หลักการก็ต้องยกเลิกกระบวนการรับรองใบประกอบวิชาชีพทั้งหมด ไม่ต้องรับรองหลักสูตร และไม่ต้องมีคุรุสภา

แต่ถ้าเราเชื่อในหลักการที่จะให้อาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ก็ต้องยึดหลักการเดียวกันตลอดแนวไม่มีข้อยกเว้น และสำคัญคือ หลักการนี้ก็จะนำไปสู่การทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพคุ้มครองเช่นเดียวกันกับหมอ วิศวกร หรือทนายความ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

“คำว่าครูเป็นอาชีพคุ้มครอง” นั้นมิได้หมายความว่า “เป็นอาชีพที่คุ้มครองคนที่จะมาเป็นครู ไม่ให้คนอื่นมาแย่ง” อย่างที่ที่ประชุมคณบดีเข้าใจกัน กล่าวคือ พอนโยบายบอกว่า “สัดส่วนที่เปิดให้บุคคลที่จบสาขาวิชาอื่นน้อยกว่าที่จบสาขาวิชาชีพครู” แปลว่าไม่แย่งงานผู้ที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งการตีความเช่นนี้ก็คือ การเข้าใจว่า “ครูเป็นวิชาชีพคุ้มครอง เป็นอาชีพที่คุ้มครองไม่ให้คนอื่นมาแย่งอาชีพ

แต่ความจริงแล้วคำว่าวิชาชีพคุ้มครอง หมายความว่า “เป็นอาชีพที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภค” ทั้งนี้ เพราะครูเป็นอาชีพที่จะส่งผลต่อ “ชีวิตของผู้เรียนทั้งชีวิต” ทุกชีวิตเป็นอนาคตของชาติ

หมอเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพราะถ้าปล่อยให้ใครต่อใครก็เป็นหมอได้ คนไข้ก็อยู่ในความเสี่ยง ไม่มีใครประกันหรือคุ้มครองได้

วิศวกรเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพราะถ้าการก่อสร้างไม่อยู่ภายใต้วิศวกรวิชาชีพแล้ว ใครจะรับรองความปลอดภัยของอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น

ทนายความเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพื่อให้แน่ใจว่าจะเป็นผู้จรรโลงซึ่งความยุติธรรมและเป็นธรรมของคดีความทั้งหลาย

ผมจึงเห็นด้วยกับการที่จะให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพราะครูเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของชาติ ทรัพยากรที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่งถ้าตกอยู่ในมือครูที่ไม่ใช่ “ครูวิชาชีพ”

ก่อสร้างตึกอาคาร หากไม่ได้มาตรฐาน ยังสามารถทุบและสร้างใหม่ได้ แปลว่าผิดพลาดได้ แต่สอนเด็กผิดๆ (ไม่เป็นวิชาชีพ) เราทุบหัวเด็กทิ้งและสอนใหม่ไม่ได้นะครับ

ฉีดยาผิด ฉีดยาแก้ หรือให้ยาใหม่ได้ แต่สอนผิดมันฝังในตัวเด็กตลอดชาติ ครูสอนเด็กหรือเยาวชนของชาติทุกคน แต่หมอจะรักษาเฉพาะคนที่ป่วย รักษาหายแล้วแปลว่าจบไป แต่สอนคนแบบไหน เขาจะเป็นคนแบบนั้นตลอดชีวิต และสังคมก็จะมีคนแบบนั้นอยู่ในสังคมตลอดไป

ทนายความว่าความและดูแลเฉพาะคนมีปัญหาทางกฎหมาย หรือคดีความ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนทุกคน เหมือนอาชีพครู

ดังนั้น “ครูจึงจำเป็นต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง และเป็นอาชีพคุ้มครอง” อย่างยิ่ง ดังนั้น จึงอยากให้ทบทวนและคิดกันให้รอบคอบครับ

ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราเดินมาถูกทางแล้วครับ (Do the right thing) แต่อาจจะยังทำสิ่งที่ถูกยังไม่ดีพอ หรือยังไม่ถูก (Not doing the thing right) สิ่งที่เราควรทำคือ ทำสิ่งที่ถูกให้ถูกให้ถูกวิธีเท่านั้นเอง

นี่คือเหตุผลที่ “ไม่ควรให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูมีสิทธิสอบเป็นครู” ครับ

 

รศ.ดร.สมาน อัศวภูมิ

นักวิชาการอิสระ

 

ขอบคุณภาพและข้อมูล    www.matichon.co.th

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top